|
ประเพณีลอยกระทง วันลอยกระทง จะจัดขึ้นตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 นี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาวซึ่งอากาศเย็นสบายและอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลากมีน้ำขึ้นเต็มฝั่งทำให้เห็นดวงประทีปในกระทงสายบนน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงทำให้สามารถเห็นแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบผิวน้ำลงมาเป็นภาพที่ดูงดงามเป็นอย่างยิ่ง
| ประวัติความเป็นมาของวันลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทง นั้นไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่ สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงเรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน
ประเพณีลอยกระทงที่ขึ้นชื่อในแต่ละภาค การจัดงานลอยกระทงของแต่ละจังหวัดและแต่ละภาคจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันคือ
| "ประเพณีลอยกระทง" ในภาคเหนือ(ตอนบน) เรียกประเพณีลอยกระทงว่า "ยี่เป็ง" หมายถึง การทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(เดือนยี่ถ้านับตามล้านนาจะตรงกับเดือนสิบสองในแบบไทย) โดยชาวเหนือจะนิยมประดิษฐ์โคมลอย หรือที่เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" โดยการใช้ผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้โคมลอยขึ้นไปในอากาศเพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุตต์ ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเลตรงกับ คติของชาวพม่า >>จังหวัดเชียงใหม่ จะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า
| >>จังหวัดตาก จะประดิษฐ์กระทงขนาดเล็กแล้วปล่อยลอยไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เรียงรายเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"
>>จังหวัดสุโขทัย เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องประเพณีลอยกระทงด้วยความเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของประเพณีนี้ โดยการจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟที่จังหวัดสุโขทัยถูกฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2520 ซึ่งจำลองบรรยากาศงานมาจากงานลอยกระทงสมัยกรุงสุโขทัย และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟขึ้นที่จังหวัดสุโขทัย ทุกๆ ปี ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีทั้งการจัดขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล และไฟพะเนียง | "ประเพณีลอยกระทงในภาคอีสาน" ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึง วันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น >>จังหวัดร้อยเอ็ด มีชื่องานประเพณีว่า “สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป” ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคาในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง มีการประกวดประทีปโคมไฟและกระทงอันสวยงาม มีการจำลองแห่หัวเมืองสาเกตุนครทั้ง11 หัวเมือง >>จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วยลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล >>จังหวัดนครพนม จะตกแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า “ไหลเรือไฟ”โดยเฉพาะที่จังหวัดนครพนมเพราะมีความงดงามและอลังการที่สุดในภาคอีสาน | "ประเพณีลอยกระทงในภาคกลาง"
>>จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการจัดงานประเพณีลอยกระทงตามประทีปขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดง แสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา | "ประเพณีลอยกระทงในภาคใต้"
>>จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการจัดงานประเพณีลอยกระทง "สีสันแห่งสายน้ำเมืองคนดี" สืบสานประเพณีที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาล >>จังหวัดสงขลาที่อำเภอหาดใหญ่ มีการจัดงานเทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้และงานลอยกระทงหาดใหญ่ ขึ้นทุกปี
| ปัจจุบัน มีการจัดงานลอยกระทงเกือบทุกจังหวัดซึ่งจะมีกิจกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ แต่กิจกรรมที่มีเหมือนๆ กันก็คือการประดิษฐ์กระทงโดยนำวัสดุต่างๆ ทั้ง หยวกกล้วย ใบตอง หรือจะเป็นกาบพลับพลึง เปลือกมะพร้าว ฯลฯ มาประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องสักการบูชา ให้เป็นกระทงที่สวยงาม ภายหลังมีการใช้วัสดุโฟมที่สามารถประดิษฐ์กระทงได้ง่าย แต่จะทำให้เกิดขยะที่ย่อยสลายยากจึงมีการรณรงค์ให้เลิกใช้กระทงโฟมเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อนจะมีการดัดแปลงวัสดุทำกระทงให้หลากหลายขึ้น เช่น กระทงขนมปัง กระทงกระดาษ กระทงพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อให้ย่อยสลายง่ายและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อไปถึงสถานที่ลอยกระทงก่อนทำการลอยก็จะอธิษฐานในสิ่งที่ปรารถนาขอให้ประสบความสำเร็จหรือเสี่ยงทายในสิ่งต่างๆ จากนั้นจึงปล่อยกระทงให้ลอยไปตามสายน้ำและในกระทงมักนิยมใส่เงินลงไปด้วยเพราะเชื่อกันว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคา
นอกจากการลอยกระทงแล้ว มักมีกิจกรรมประกวดนางนพมาศอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเพณีลอยกระทงและตามสถานที่จัดงานจะมีการประกวดกระทง ขบวนแห่มหรสพสมโภชต่างๆ บางแห่งอาจมีการจุดพลุดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองด้วย | |
ไปยังเว็บใหม่ t-Globe?
ลงทะเบียนสมาชิกเพื่อได้รับข้อมูลทุกอย่างในเว็บไซด์
สมาชิกที่ลงทะเบียนจะสามารถ:
การใช้งานเชิงโต้ตอบt-Maps
ดูธุรกิจละแวกใกล้เคียง
พิมพ์ คู่มือท่องเที่ยวรูปแบบไฟล์ PDF
ได้รับคูปองส่วนลดสำหรับโรงแรมร้านอาหารและบริการอื่น ๆ
จดบันทึก และบันทึกข้อมูลเพื่อใช้ในอนาคต
ติดตามการเยี่ยมชมหน้าเว็บ
|